แกะรอยหยักสมองรวยหุ้นหมื่นล้าน

แกะรอยหยักสมองรวยหุ้นหมื่นล้าน
SE-ED Bestseller Series หนังสือ "แกะรอยหยักสมองรวยหุ้นหมื่นล้าน" โดย ผมเอง (ที่ SE-ED ทุกสาขาทั่วประเทศ!!)

แนะนำ Facebook ของผมครับ

แนะนำ Facebook ของผมครับ
คลิ๊กเข้ามาเป็นเพื่อนกันใน Facebook ครับ!!

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

สัมภาษณ์ลง "ถนนนักลงทุน"กรุงเทพธุรกิจ ตอนที่ 1


(คัดมาจาก บทสัมภาษณ์ "ถนนนักลงทุน" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2554)

'ภาววิทย์ กลิ่นประทุม'.. คิดรวยเร็วถึง 'ล้ม' เคยล้มถึง 'รวย'

หลานปู่ 'ทวิช กลิ่นประทุม' หลายตา 'วิระ รมยะรูป' คิดรวยเร็วถึง 'ล้ม' เพราะเคย 'ล้ม' ที่ออสเตรเลียถึงกลับมา 'รวย' ในตลาดหุ้น เขาเชื่อว่าอีก 20 ปีตัวเองจะรวยมหาศาล

ในสังคมโซเชียล มีเดียและไซเบอร์ สเปซ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม เป็นที่รู้จักมักคุ้นของนักลงทุนอย่างกว้างขวาง บทความสั้นๆ ของเขาพูดถึงความจริงอีกด้านของเหรียญที่ผู้คนมักนึกไม่ถึง วิธีคิดที่ค่อนข้างหักมุมใช้ภาษาเข้าใจง่าย ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า "โดน" ส่งให้หนังสือ "แกะรอยหยักสมอง" ติดอันดับ Best Sellers ทำยอดขายถล่มทลายทั้ง 2 ภาค

ที่สำคัญหนุ่มคนนี้ไม่ได้มีดีแค่นามสกุล ประวัติคร่าวๆ ของเขาเป็น "หลานปู่" อดีตนักการเมืองใหญ่ ทวิช กลิ่นประทุม ผู้ก่อตั้งบริษัท เทรลเลอร์ ทรานสปอร์ต เจ้าของกิจการชิพปิ้งและท่าเรือรายใหญ่ของไทยในยุคหนึ่ง และเป็น "หลายตา" วิระ รมยะรูป ผู้จัดการสาขาคนแรกของธนาคารกรุงเทพ และเป็นมือขวา เจ้าสัวชิน โสภณพนิช รุ่นที่สอง "แม่-ลุง-ป้า-น้า" ทำงานรับใช้ เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ขณะที่ตัวภาววิทย์เองทำงานรับใช้ "เสี่ยโทนี่" ชาติศิริ โสภณพนิช ที่สำนักผู้จัดการใหญ่

เท่ากับว่าทายาทตระกูลรมยะรูป ทำงานรับใช้ธนาคารกรุงเทพและตระกูลโสภณพนิชมาแล้ว 3 ชั่วอายุคน

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดสนทนากับ นักคิดนักเขียนนักลงทุนรายนี้ที่สำนักงานเว็บไซต์สต็อกทูมอร์โรว์อาคารชาญ อิสสระทาวเวอร์ 1 ข้างๆ ตัวเขามีผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ "ป้อม" ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ร่วมวงอยู่ด้วย

“ชีวิตผมเป็นมาหมดแล้วไม่ว่าเจ้าของกิจการ ลูกจ้างแต่ปัจจุบันผมเป็นนักลงทุน” หนุ่มวัย 30 ปี เอ่ยขึ้นเพื่อแนะนำตัวเอง

ภาววิทย์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบัญชีเอกการตลาดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย แต่มีเหตุที่ทำให้ “เรียนไม่จบ”

“ตอนนั้นผมไฟแรงมากอยากทำธุรกิจร้านอาหารที่ออสเตรเลียเลยไปกู้เงินกับ ของเงินที่บ้านมาลงทุน ตอนแรกมีสาขาเดียวต่อมารีบเปิดรวดเดียว 5 สาขา 5 คอนเซปต์ แถมยังเปิดโรงงานทำกระจกกับเพื่อนที่นั่นด้วย สุดท้ายเลยไม่ได้เรียน”

เขาเชื่อว่าเวลาไหนที่ชีวิตมันดูดีสุดๆ หลุดจาก Mean (ทางสายกลาง) ไปมากๆ ผมว่าคุณเตรียมพบกับ "ความโชคร้าย" ที่จะเข้ามาเยือนได้เลย สิ่งที่เขาเจอช่วงปี 2007 (ปี 2550) คนออสเตรเลียใช้จ่ายลดลงอย่างฮวบฮาบกิจการของเขาได้รับผลกระทบอย่างแรง เงินทางบ้านเกือบ 20 ล้านบาทบวกกับเงินกู้บริษัทไฟแนนซ์ที่ดอกเบี้ยสุดโหดรวมแล้วเจ๊งไป 30 กว่าล้านบาท

ความคิดจะที่สร้างเครื่องปั๊มเงินหรือ The Money Making Machine ที่ออสเตรเลีย จึงเป็นแค่ "วิมานเมฆ" ช่วงต้นปี 2551 จึงกลับมาทำงานให้ชาติศิริ โสภณพนิช ในส่วนของ Office of President ที่ธนาคารกรุงเทพสู่โลกของความเป็นจริง

เขาบอกว่านี่แหละชีวิตจริง การทำธุรกิจมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เรียนกันในตำรา จากที่เร่งเปิดร้านเร็วสุดท้ายต้องปิดหมดเหลือสาขาเดียว มันก็คือ "ร้านแรก" ที่เปิดนั้นแหละอยู่ในเมือง Coffs Harbour ในรัฐนิวเซาท์เวลส์โดยให้แฟนดูแล เขาวิเคราะห์สาเหตุแห่งความล้มเหลวน่าจะเกิดจากจังหวะการลงทุนที่ผิดพลาดและ เน้นโตเร็วเกินไป

"ผมเซ็งที่จะเห็นคนมากมายเอาเงินไปละลายแบบโง่ๆ อย่างผม..ใครสนใจจะเปิดร้านอาหารในออสเตรเลียผมแนะนำให้มาคุยกับผมก่อน"

ภาววิทย์เล่าว่า เหตุการณ์ช่วงปี 2550 เครียดมากเมื่อล้มเหลวจากธุรกิจในออสเตรเลียจึงตัดสินใจกลับเมืองไทย ขณะนั้นในใจเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่าอีกไม่นานหุ้นต้องแย่ด้วยแน่นอน จึงรีบบอกให้คุณแม่ซึ่งปกติจะซื้อหุ้นไว้จำนวนมาก อยู่ตลอดเวลาให้รีบขายหุ้นออกมาทั้งหมด จากนั้นแม่ก็มองหุ้นที่ขายไปหลายๆ ตัววิ่งขึ้นต่อด้วยอารมณ์ที่ "เซ็งสุดขีด"

"พอขายหุ้นออกไปทั้งหมด ตลาดยังไม่ตกแรงเหมือนที่คาดไว้แต่กลับวิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เวลานั้นเริ่มคิดเหมือนกันว่าเราพลาด "ขายหมู" ไปรึเปล่า หลังจากตลาดเริงร่าไปจนถึงกลางปี 2551 ในที่สุดสิ่งที่กลัวก็เกิดขึ้นจริงตอนนั้น เลแมน บราเดอร์ส "เจ๊ง" ก่อให้เกิดตลาดหุ้น Crash (พัง) ทั่วโลก หุ้นที่ขายไปบางตัวราคาตกลงไปเกือบครึ่ง บางตัวตกเกินกว่าครึ่ง ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมบ้านเราล่มสลายในพริบตา"

เขารวบรวมความกล้าบอกกับแม่ว่าเราต้องเข้า (ช้อน) ซื้อหุ้นช่วงนี้แหละในจังหวะที่ "แย่ที่สุด" อย่างหุ้น BBL ขายไปก่อนที่ราคา 133 บาท แล้วเข้าไปเก็บอีกครั้งที่ราคา 59 บาท จุดนั้นถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตการนักลงทุนครั้งแรกอย่างภาคภูมิ

"ช่วงนั้นผมตัดสินใจซื้อแต่เป็นลักษณะการ "เทรด" เพราะคิดว่าตลาดจะตกอีกนานมากๆ พอกำไรก็รีบขายออก ตลอดปี 2552 ตลาดวิ่งไป 60% แต่ผมกำไรแค่ 30%..โง่!! (จริงๆ) แต่เผอิญมันเป็นฐานเงินที่ใหญ่กำไรที่ได้มันจึงทำให้แม่ผมแฮปปี้! ไม่น้อย แล้วรางวัลจากแม่สำหรับการเทรดที่ไม่ค่อยฉลาดนักก็คือ Mercedes Benz รุ่น E200 สีดำป้ายแดง..ผมซวยจากกิจการในออสเตรเลียแต่ก็มาโชคดีจากตลาดหุ้นซับไพร์ ม"

เขาย้อนเล่าว่า เหตุการณ์ที่ "หุ้นพัง" ตัวเองเคยเจอมาคล้ายๆ กับในปี ค.ศ.2000 (ปี 2543) หลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรก ราคาหุ้น BBL ลงไปอยู่ที่ 20 บาท ทางบ้าน (ตา,แม่,ลุง,ป้า,น้า) ทำงานอยู่ธนาคารกรุงเทพมั่นใจว่าธุรกิจไม่เจ๊งแน่นอนจึงเข้าไปซื้อหุ้นไว้ ต่อมาราคาหุ้นก็กลับขึ้นมาได้ในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักลงทุนตั้งแต่นั้นมา

“จริงๆ แล้วผมเริ่มต้นศึกษาเรื่องการลงทุนตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยโดยมีแบบอย่างมาจากคุณแม่ซึ่งเป็นนักลงทุนที่ชอบคิดสวนทางตลาด”

ถามว่าพอร์ตลงทุนตอนนี้ทั้งของส่วนตัวและของครอบครัวมีอยู่ประมาณเท่าไร เจ้าตัวขอไม่เปิดเผยบอกแต่เพียงว่า “ใหญ่พอสมควร” ส่วนเรื่องผลตอบแทนเขาบอกว่าในพอร์ตจะมีแต่ “หุ้นบลูชิพ” ถ้านับผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2551 ราคาหุ้นก็ขึ้นมาเท่ากับดัชนี (ดัชนีต่ำสุด 380 จุดขึ้นมา 1,078 จุด หรือประมาณ 180%)

“ผลตอบแทนผมคงไม่เท่าคนอื่นหรอก อย่างคุณป้อม (เจ้าของเว็บไซต์สต็อกทูมอร์โรว์ที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ) เขาทำได้ตั้ง 500% ถ้าใครเล่นหุ้น IVL น่าจะทำได้ 5-6 เท่า หรือ CPF ได้ 8 เท่าสบายๆ แต่ผมเลือกที่จะได้ผลตอบแทนตามความเสี่ยง เสี่ยงน้อยหน่อยก็ได้น้อยหน่อย”

สำหรับไอดอล (บุคคลต้นแบบ) ของนักลงทุนหนุ่มรายนี้คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้อง ดร.นิเวศ เหมวชิรวรากร เพียงแต่แนวทางอาจแตกต่างไปจากแวลูอินเวสเตอร์ทั่วไป เพราะเขาจะเล่นเฉพาะ "หุ้นบิ๊กแคป" หรือ "หุ้นบลูชิพ" เท่านั้น ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ในพอร์ตประมาณ 10 ตัว เช่น PTT, PTTEP, IRPC, BBL, KK และ ADVANC เป็นต้น

“มีคนสงสัยว่าผมไม่ใช่วีไอจริง (ของปลอม) เพราะถือแต่หุ้นตัวใหญ่ที่จริงแล้วหลักการของวีไอคือซื้อหุ้นในราคาที่ถูก กว่าความเป็นจริงโดยดูที่มูลค่าพื้นฐานของกิจการไม่เกี่ยวว่าต้องหุ้นเล็ก หุ้นใหญ่ขึ้นอยู่กับใครนำแนวคิดมาดัดแปลงใช้มากกว่า”

นอกจากเข้าซื้อช่วงหลังวิกฤติแล้ว หุ้นบางตัวยังเลือกเข้า "เก็บ" ช่วงที่เกิด “ข่าวร้าย” แรงๆ อย่างหุ้น PTT เข้าเก็บในจังหวะที่มีข่าวมาบตาพุด จนมีกระแสข่าวว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะถอนการลงทุนออกไปทั้งหมด

“ผมมองว่าสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรถ้า ปตท.เจ๊งประเทศก็เจ๊งไปด้วยเลยคิดว่าต้องลองสักตั้ง ว่าแล้วก็เลยตัดสินใจซื้อสวนตลาดไปเลย ถึงตอนนี้ (กำไรเยอะแล้ว) ก็ยังไม่ขายออกมา”

อีกตัวหนึ่งก็คือหุ้น ADVANC สาเหตุที่เลือกลงทุนเพราะเป็นผู้ประกอบการมือถืออันดับหนึ่งของประเทศ มีการบริหารจัดการที่ดี ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง ที่สำคัญมีการแจก ESOP ให้ผู้บริหารทำให้มีแรงกระตุ้นที่จะสร้างผลงาน แม้ว่าจะไม่มีการประมูล 3จี แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีด้วยซ้ำเพราะจะไม่ต้องมีการลงทุนหนักกับธุรกิจที่ยัง ไม่รู้อนาคต ส่วนตัวถือเพื่อรับปันผล 10% ต่อปีก็คุ้มค่าแล้ว

“แม้ตอนที่ไม่มีการประมูล 3จี มีประเด็นฟ้องร้องต่างๆ หุ้นตกลงมาผมก็เข้าไปรับไว้อีกเพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ไม่กระทบต่อธุรกิจแน่”

ภาววิทย์สรุปให้ฟังว่า เขาเลือกลงทุนหุ้นตัวใหญ่เพราะมัน "ไม่มีทางเจ๊ง" และมีโอกาสเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ เรื่องผลตอบแทนมันเป็นไปตามกฎ High Risk High Return ถ้าคุณเสี่ยงมากก็จะได้ผลตอบแทนมาก แต่ผมเลือกที่จะรับความเสี่ยงแบบพอดี

"การถือหุ้นตัวใหญ่ทำให้เราเสี่ยงน้อยลง และถ้ามีจังหวะดีๆ ที่ราคาตกลงมาก็มีโอกาสเพิ่มจำนวนการถือหุ้นได้อีก มุมมองส่วนตัวคิดว่า "จำนวนหุ้นคือของจริง" ส่วนราคาเป็นเพียง "ภาพลวงตา" เป็นเพียงแค่ตัวเลข คุณมีโอกาสเห็นตัวเลขผลประกอบการที่ดีได้ถ้าบริษัทเติบโตขึ้น แต่ระวังราคาที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้คุณหลงทาง “ขายหมู” ออกมาได้ สำคัญคือดูที่ผลประกอบการแล้วจะรู้เองว่าหุ้นเราดีหรือไม่ดีไม่ใช่ไปดูแต่ ราคาหุ้น"

ปัจจุบันภาววิทย์รับหน้าที่ดูแลพอร์ตลงทุนของครอบครัว แม้น้องสาวที่จบดอกเตอร์ด้านการเงินจากอังกฤษยังฝากให้ดูแลเงินให้ สิ่งที่กำลังทำอยู่เขายืนยันว่าไม่ได้ “เล่นหุ้น” เพราะนั่นเหมือนกับ “เล่นการพนัน” เพียงแต่นำเงินไป "ฝากไว้กับหุ้น" ตอนนี้ตัวเขานำเงินเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ไปใช้ชีวิตอยู่กับหุ้น โดยมองหุ้นเป็น “สินทรัพย์” อย่างหนึ่ง และจะไม่ลงทุนอย่างอื่นเช่นทองคำ เพราะทองคำจ่ายปันผลไม่ได้

“หุ้นที่ดีก็เหมือนกับเงินฝากธนาคาร ผมจะถอนเงินออกจากหุ้นต่อเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าซึ่งอาจ จะเกิดขึ้นได้อีกแต่ไม่รู้เมื่อไร”

เขายกตัวอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่นำผลกำไรและเงินปันผลไปลงทุนต่อและสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นปีละ 25% สูงที่สุดในโลกส่วนตัวขอยึดแนวทางดังกล่าวเช่นกัน โดยตั้งเป้าส่วนตัวขอผลตอบแทนจากเงินปันผลปีละ 10% ทบต้น

"ดอกเบี้ยทบต้นคือสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก หุ้นของผมจะยังไม่ขายตอนนี้และจะเอาเงินปันผลที่ได้ไปลงทุนต่อด้วย ขณะที่แนวทางต่างๆ ได้พิสูจน์แล้วว่า เข้าๆ ออกๆ หุ้นบ่อยๆ ไม่ทำให้รวยได้"

สัปดาห์หน้า วีไอหนุ่มจะชี้อนาคตตลาดหุ้นไทย ทำไม! ภาววิทย์ถึงมั่นใจใน Asian Miracle ภายใน 20 ปีข้างหน้า เขาคาดว่า "ตัวเองจะรวยมหาศาล"

------------------------------------------------

เพาะบ่มความคิดที่ 'สต็อกทูมอร์โรว์'

ภาววิทย์ กลิ่นประทุม กล่าวว่า ช่วงแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นสนใจแต่แนวทางแวลูอินเวสเตอร์อย่างเดียว แต่พอได้มารู้จักเว็บไซต์สต็อคทูมอร์โรว์ (ต้องมีค่าสมาชิก) ทำให้ได้เรียนรู้แนวทางการลงทุนในหลากหลายมิติมากขึ้น ยกตัวอย่าง “พีร์” มือ Prop Trade โบรกเกอร์แห่งหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องการซื้อขายหุ้นในวันเดียวหรือ "เดย์เทรด" เป็น “เทรดเดอร์ลึกลับ” ที่ชอบเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ในต่างประเทศ มาช่วยกันโพสต์บทความที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนลงในเว็บไซต์

“เราไม่ได้คิดจะรวมตัวกันตั้งลัทธิหรือทำอะไรไม่ดี (ปั่นหุ้น) แต่เราต้องการให้ความรู้กับนักลงทุนผ่านกิจกรรมอย่างเช่นการเสวนา งานเขียนหนังสือ อีกไม่นานเราจะมีรายการทีวีด้วย”

หลังจากอยู่ในสังเวียนสักพัก ภาววิทย์สามารถชี้ชัดได้ว่าแนวทางการลงทุนในตลาดหุ้นมีเพียงแค่สองแบบ เท่านั้นคือแนวทาง "หุ้นคุณค่า" (วีไอ) มุ่งเน้นที่มูลค่าของกิจการมากกว่าราคาและต้องซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าความ เป็นจริงในเวลาที่คนอื่นกำลังกลัว

อีกแนวทางหนึ่งคือการใช้ "กราฟเทคนิค" เข้าช่วยทำให้เราสามารถรู้ “เวลา” ที่จะเข้าออก สามารถนำมาผสมผสานเข้ากับแนวทางแบบวีไอที่จะวิเคราะห์ได้ว่าราคาหุ้นถูกหรือ แพง

“แนวทางหนึ่งคือการเป็นเดย์เทรดแต่นั่นต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวอย่าง มาก ผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะมีเพียงแค่ 1% ที่ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้”

เขาเสริมว่าการอาศัยเทคนิคช่วยวิเคราะห์หุ้น คนที่ใช้แนวทางนี้คือนักลงทุนตามกระแส (Trend Follower) ต้องเข้าใจว่าการใช้เทคนิคอย่างพวกกราฟไม่ได้ช่วยให้เราสามารถซื้อหุ้นได้ใน ราคาต่ำที่สุดและขายออกไปตอนแพงที่สุด แต่ทำให้เรารู้ว่าเทรนด์ของหุ้นจะเป็นอย่างไรจะขึ้นหรือลง ถ้าขึ้นก็ตามถ้าลงก็ถอย

“พูดง่ายๆ คือการใช้เทคนิคเราจะซื้อหุ้นตอนแพงแต่ไปขายตอนที่แพงกว่า กินส่วนต่างตรงกลาง แต่ถ้าเป็นวีไอคุณซื้อหุ้นตอนถูกแล้วไปขายตอนแพง”

ปัจจุบันเว็บไซต์แห่งนี้มีสมาชิกประมาณ 2,000 คน ภาววิทย์เชื่อว่า ถ้าเราเป็น "ผู้ให้" เราก็จะได้รับสิ่งนั้นกลับคืนมา เขาอยากจะเห็นนักลงทุนไทยเพิ่มจำนวนเป็นประมาณ 1 ล้านคน ตอนนี้แค่แสนกว่าคนยังเป็นแมลงเม่า ถ้าตลาดโตขึ้นนักลงทุนน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกันทุกคน

"ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นยังไปต่อได้ ถ้าไม่เข้าตั้งแต่ตอนนี้คุณอาจจะตกรถไฟก็ได้"








1 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยมสัปดาห์ที่ผ่านมา

"จัดให้" บทความที่ได้รับความนิยมใน Blog แห่งนี้ครับ